โจรไซเบอร์ หลอกผู้โดยสาร ใช้ Wi-Fi ปลอมในสนามบิน
วันนี้ผมอยากขอหยิบยกเรื่องภัยร้ายใกล้ตัวอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งหลายคนมองข้ามไปทำให้ตกเป็นเหยื่ออย่างไม่รู้ตัว
แน่นอนว่า ต้องมีคนจำนวนไม่น้อยเคยไปสนามบินเพื่อเดินทาง ทำงานในสนามบิน หรือไปรับ-ส่งคน และไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์อะไรก็แล้วแต่ เชื่อว่าหลายคนเลือกใช้ wifi ฟรีในสนามบินโดยลืมคำนึงถึงความปลอดภัยและภัยร้ายเงียบที่แฝงตัวมา
โดยกรณีล่าสุดที่กำลังตกเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ ทางสายการบินหนึ่งได้รายงานเกี่ยวกับเครือข่าย Wi-Fi ที่น่าสงสัย ซึ่งพนักงานของสายการบินตรวจพบระหว่างเที่ยวบินภายในประเทศออสเตรเลียและได้แจ้งเรื่องให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบ
ส่งผลให้ตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลีย AFP ตรวจสอบและได้รวบตัวชายชาวออสเตรเลียวัย 42 ปี ในข้อหาสร้าง Wi-Fi ปลอมเพื่อการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัยขณะเดินทางกลับมายังสนามบินเพิร์ธด้วยเที่ยวบินภายในประเทศ จากนั้นได้ค้นสัมภาระและยึดอุปกรณ์เชื่อมต่อไร้สายแบบพกพา แล็ปท็อป และโทรศัพท์มือถือ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ตรวจค้นบ้านของเขาในเมืองพอลไมรา รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม โดยทีมปฏิบัติการอาชญากรรมไซเบอร์ของกองบัญชาการภาคตะวันตกของ AFP ได้วิเคราะห์ข้อมูลและอุปกรณ์ที่ยึดมาได้ และพบว่ามีเพจ Wi-Fi ปลอมถึง 3 สนามบิน ทั้งในเมืองเพิร์ธ เมลเบิร์น และแอดิเลดบนเที่ยวบินภายในประเทศ รวมถึงในสถานที่ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับที่ทำงานเดิมของผู้ต้องสงสัย มากกว่านั้นยังตรวจพบข้อมูลส่วนบุคคลหลายสิบรายการที่เป็นของบุคคลอื่นบนอุปกรณ์ของเขาอีกด้วย
ผู้ต้องสงสัยรายนี้ถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมในโลกไซเบอร์ถึง 9 ข้อหา จากที่มีการสร้างเครือข่ายจุดเชื่อมต่อที่ลอกเลียนแบบเครือข่ายที่ถูกต้องตามกฏหมายและติดตั้ง Free Wi-Fi ปลอมหลายตำแหน่งภายในสนามบินเพื่อบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลจากเหยื่อที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เหล่านั้นโดยไม่ตั้งใจ
เมื่อเหยื่อเริ่มการเชื่อต่ออุปกรณ์กับเครือข่าย Wi-Fi ฟรี ก็จะถูกนำไปยังหน้าเว็บปลอมที่กำหนดให้ต้องลงชื่อเข้าใช้ด้วยอีเมลหรือข้อมูลเข้าสู่ระบบโซเชียลมีเดีย ข้อมูลทั้งหมดเหล่านั้นจะถูกบันทึกไว้ในอุปกรณ์ของเขาเพื่อนำมาใช้เข้าถึงไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล การสื่อสารออนไลน์ รูปภาพ วิดีโอที่บันทึกไว้ และรายละเอียดทางการเงินธนาคารของเหยื่ออีกด้วย
กรณีดังกล่าวถือเป็นการเตือนให้ระมัดระวังในการเข้าสู่ระบบเครือข่าย Wi-Fi สาธารณะและเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น ผู้ใช้งานจึงควรทำตามคำแนะนำในการใช้งาน Wi-Fi Hotspot อย่างเคร่งครัด ดังนี้
สุดท้ายผู้ใช้งานต้องจำไว้เสมอว่า "การเชื่อมต่อ Wi-Fi ฟรี ไม่จำเป็นต้องใส่รายละเอียดส่วนตัวใดๆ หรือการเข้าสู่ระบบผ่านอีเมล/บัญชีโซเชียลมีเดีย" ครับ
สามารถติดตามบทความจาก CEO ผ่านทางบทความ Think Secure โดย คุณนักรบ เนียมนามธรรม (นักรบ มือปราบไวรัส) เป็นประจำทุกสัปดาห์ ได้ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หรือช่องทาง Online ที่ https://www.bangkokbiznews.com/category/tech/gadget
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2567)
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/tech/gadget/1135981