Share

กลาโหมสหรัฐ ปรับมาตรฐานความปลอดภัยไซเบอร์ครั้งใหญ่

Last updated: 5 Nov 2024
172 Views
กลาโหมสหรัฐ ปรับมาตรฐานความปลอดภัยไซเบอร์ครั้งใหญ่

ต้องยอมรับว่าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ ตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีทางไซเบอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง

หลายองค์กร "รอด" เพราะมีระบบการตรวจจับและการป้องกันที่รัดกุม แต่ก็มีองค์กรอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกเป็นเหยื่อในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แรนซัมแวร์ ฟิชชิง มัลแวร์ เป็นต้น

ล่าสุดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จัดให้มีการประเมินเกี่ยวกับการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ของผู้รับเหมาที่ดำเนินงานให้กับทางกระทรวงผ่านโปรแกรม Cybersecurity Maturity Model Certification (CMMC) เวอร์ชันล่าสุด

เพื่อตรวจสอบผู้รับเหมาหลายพันรายที่ติดต่อกับทางหน่วยงานและทำให้เกิดความสอดคล้องในมาตรการการป้องกันที่มีอยู่สำหรับข้อมูลสัญญาของรัฐบาลกลาง (FCI) และข้อมูลที่ไม่ได้จัดประเภทภายในรัฐบาลกลาง (CUI) นอกจากนี้ยังเป็นการปกป้องข้อมูลนั้นๆ ให้อยู่ในระดับที่เท่ากับความเสี่ยงจากภัยคุกคามความปลอดภัยทางไซเบอร์

รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดตัว CMMC เวอร์ชันแรกประกอบด้วย มาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูง 5 ระดับในเดือนมกราคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาไม่นานหลังจากการโจมตีห่วงโซ่อุปทานของ SolarWinds ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้รับเหมาด้านการป้องกันของรัฐบาลกลางเกือบ 40 ราย

โดย CMMC จะทำหน้าที่ควบคุมหน่วยงานหรือบุคคลที่ทำให้ข้อมูลหรือระบบของสหรัฐฯ ตกอยู่ในความเสี่ยงโดยการจงใจบิดเบือนแนวทางปฏิบัติหรือโปรโตคอลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือจงใจละเมิดภาระผูกพันในการตรวจสอบและการละเมิดความปลอดภัยทางไซเบอร์ 

และต่อมามีการอัพเดทเวอร์ชัน 2.0 ในเดือนพ.ย. 2564 ที่ลดกฎเหลือ 3 ระดับเพื่อปรับปรุงและลดความซับซ้อนของกระบวนการสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME)

ในช่วงปลายปี 2566 ยังมีการเสนอแก้ไขกฎซึ่งเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญเกี่ยวกับระดับและประเภทของการประเมินที่แตกต่างจากสถานะที่กำหนดไว้เพื่อช่วยให้ผู้รับเหมาของกระทรวงกลาโหมสามารถประเมินการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้วยตนเองได้และเพิ่มความมั่นใจให้กับกระทรวงว่า ผู้รับเหมาด้านการป้องกันสามารถปกป้อง FCI และ CUI ได้อย่างเพียงพอและสอดคล้องกับความเสี่ยง โดยแบ่งเป็น

  • ระดับ 1 เป็นการประเมินตนเองสำหรับการป้องกันขั้นพื้นฐานของ FCI
  • ระดับ 2 ต้องการการคุ้มครองทั่วไปของ CUI ผ่านการประเมินโดยบุคคลที่สามหรือการประเมินตนเองที่ CMMC ระดับ 2
  • ระดับ 3 ต้องการการปกป้อง CUI ในระดับที่สูงกว่าความเสี่ยงจากภัยคุกคามถาวรขั้นสูง (APT Advanced Persistent Threat) ผ่านการประเมินโดยศูนย์ประเมินความปลอดภัยทางไซเบอร์ทางด้านอุตสาหกรรมกลาโหม

สำหรับประเทศไทย ปัญหาการโจมตีห่วงโซอุปทานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากองค์กรไม่มีกฏเกณฑ์ในการเชื่อมต่อที่ถูกต้องและเหมาะสม อีกทั้งในบางองค์กรมีการเชื่อมต่อ API ที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีหน่วยงานกลางเข้ามาควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด

โดยเฉพาะหน่วยงานราชการที่มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์กันเอง จะต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษเพราะไม่มีทีมตัวกลางที่ดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้เหมือนอย่างในสหรัฐฯ ที่มีพัฒนาและอัพเดทเวอร์ชั่นทุกๆ ปี

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานความมั่นคงของไทยก็เริ่มจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพขึ้นมาแล้ว ผมก็หวังว่าศูนย์ไซเบอร์นี้จะมีการเชื่อมต่อทุกภาคส่วน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ และต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ได้ทราบถึงความเสี่ยงและอันตรายจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ครับ

สามารถติดตามบทความจาก CEO ผ่านทางบทความ Think Secure โดย คุณนักรบ เนียมนามธรรม (นักรบ มือปราบไวรัส) เป็นประจำทุกสัปดาห์ ได้ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หรือช่องทาง Online ที่ https://www.bangkokbiznews.com/category/tech/gadget   

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (ฉบับวันที่ 22 ตุลาคม 2567)
https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1150166 

Related Content
This website uses cookies to enhance your experience and providing the best service from us. Please confirm the acceptance. You can learn more about our use of cookies from our Policy. Privacy Policy and Cookies Policy
Compare product
0/4
Remove all
Compare