Romance Scam
Romance Scam - จุดเริ่มต้นและบทสรุปของอาชญกรรมความรัก
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกา หรือ FBI ได้เปิดเผยเรื่องราวของบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อจากการหลอกลวงด้วยวิธี Romance Scam และต่อจากนี้คือเรื่องราวของเธอ…
สิงหาคมปี 2017 “ดาร์ลีน” เข้าร่วมเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ซึ่งเธอได้พบกับชายคนหนึ่งชื่อ “จิโอวานนี่”
“นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันรู้สึกว่าอยากจะเผยแพร่เรื่องราวของฉันออกไป ฉันให้เบอร์โทรกับเขาเพราะเขาดูจริงใจมาก ภายใน 3 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น เขาแสดงออกว่าเขาตกหลุมรักฉัน เขาบอกฉันว่าเขาต้องเดินทางไปทำงานที่ตุรกี เขาบอกว่าเขาเป็นสถาปนิกและผู้รับเหมา“ ต่อมาจิโอวานนี่บอกเธอว่าเขาต้องการเงินสำหรับทำงานในต่างประเทศ เขาจึงยืมเธอไป 30,000 ดอลลาร์ โดยจิโอวานนี่พูดว่า “ผมจะคืนเงินให้คุณทุกบาททุกสตางค์ ผมจะให้คุณมากขึ้นสำหรับการทำเช่นนี้เพื่อผม”
“ประมาณสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ เขาติดต่อฉันและบอกว่าต้องการเงินมากกว่านี้เพื่อช่วยฉัน เรากำลังเดินไปด้วย กัน เราจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน เรากำลังจะแต่งงานกัน เขาขอเงินฉันหลายครั้ง ทุกครั้งจะมีเหตุผลเสมอ ตอนนั้นฉันริ่มเห็นสัญญาณบางอย่างแต่ฉันก็เพิกเฉยต่อมัน จำนวนเงินทั้งหมดที่เขาได้รับจากฉันคือ 530,000 ดอลลาร์ มันคือเงินที่ฉันต้องการเก็บไว้ใช้ตอนเกษียณ และนั่นคือเหตุผลที่ฉันยังคงทำงานอยู่ตอนนี้ แม้จะมีอายุเกือบ 74 ปีแล้วก็ตาม ณ ตอนนี้ฉันตั้งคำถามกับตัวเองว่า ฉันตกหลุมรักสิ่งนี้ได้อย่างไร? ซึ่งมันเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากทุกสาขาอาชีพ ซึ่งฉันไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครอีก”
จากเรื่องราวที่ยกตัวอย่างมานั้น พอจะเดากันออกแล้วใช่มั้ยว่า Romance Scam คืออะไร? และหวังผลประโยชน์อะไรจากเหยื่อ?
สำหรับจุดเริ่มต้นของ Romance Scam เกิดขึ้นในวันที่โลกพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัล ผู้คนจำนวนมากหันเข้าสู่โลกออนไลน์แทนที่จะออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เลือกที่จะสื่อสารเรื่องส่วนตัวกันผ่านสื่อออนไลน์มากกว่า เพราะสามารถระบายหรือได้พูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักตัวตนของพวกเขา โดยอาจไม่ต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจกว่า
เว็บไซต์และแอปพลิเคชันกระตุ้นให้ผู้ใช้สร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อพบเจอผู้คนที่อาจไม่รู้จักแต่มีความคิดความชอบที่คล้ายกันให้พบเจอกัน อาชญากรมักมองหาเหยื่อจากชุมชนออนไลน์ที่มีลักษณะการใส่ข้อมูลส่วนตัวให้คนอื่นมาสนใจ ซึ่งสร้างความเสี่ยงให้กับผู้ใช้มากขึ้น เนื่องจากผู้ใช้ได้เผยข้อมูลอ่อนไหวของตนให้กับคนแปลกหน้า
Romance Scam หลุมพรางที่มีเหยื่อล่อเป็น “ความรัก” และ “ความเชื่อใจ”
ในเว็บไซต์หาคู่หรือในโซเชียลมีเดียคุณมั่นใจได้มากน้อยแค่ไหน ว่าคนที่คุณคุยด้วยเพื่อสานความสัมพันธ์นั้น เป็นอย่างที่คุณคิดจริงๆ ข้อความที่บอกรักแสนหวานพร้อมโปรไฟล์ที่ดูดี ทำให้คุณมองข้ามนัยยะแฝงที่ซ้อนเล้นอันเต็มไปด้วย
คำลวง “คนรัก” ที่คุณไม่เคยพบหน้า ไม่เคยเจอตัวจริง แต่กลับทุกเทใจให้โดยง่ายดาย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
Romance Scam เกิดขึ้นเมื่ออาชญากรใช้ตัวตนออนไลน์ปลอม เพื่อให้เหยื่อได้รับความรักและความไว้วางใจ จากนั้นคนกลุ่มนี้จะใช้ภาพลวงตาของความสัมพันธ์ที่โรแมนติกหรือใกล้ชิด จัดการขโมยสิ่งที่ต้องการจากเหยื่อ โดยอาชญากรที่ทำ Romance Scam เป็นผู้เชี่ยวชาญในสิ่งที่พวกเขาทำและจะดูจริงใจ เอาใจใส่ และน่าเชื่อถือ นักต้มตุ๋นมีอยู่มากมายในเว็บไซต์หาคู่และโซเชียลมีเดีย
ความตั้งใจของ “สแกมเมอร์” หรือนักต้มตุ๋นออนไลน์ คือการสร้างความสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด สร้างความรักในใจให้กับเหยื่อ เพื่อให้ได้มาซึ่งความไว้วางใจ สแกมเมอร์อาจขอแต่งงานและวางแผนที่จะพบปะกันด้วยตนเอง แต่นั่นจะไม่มีวันเกิดขึ้น ในที่สุดพวกเขาจะ “ขอเงิน” จากคุณ และเมื่อได้เงินมากพอแล้ว “นักรักออนไลน์ก็จะกลายเป็นโจรผู้หลอกลวง” และหายตัวไปจากชีวิตของคุณทันที
กลวิธีที่ใช้ในการสร้างความสัมพันธ์แบบ “รัก ลวง หลอก”
“ความเชื่อใจ” เป็นจุดเริ่มต้นสู้การมอบความรักให้กับสแกมเมอร์ คนที่เข้ามาหลอกลวงเหยื่อนั้นมักจะใช้รูปภาพของบุคคลอื่นที่ดูน่าเชื่อถือ มักใช้ภาพที่มีการแต่งกายดูดี ภูมิฐาน หรือภาพคนในเครื่องแบบ เช่น ทหาร แพทย์ นักธุรกิจ วิศวกร
มีสถานะในโลกออนไลน์เป็นคนโสด หรืออาจเคยแต่งงานมาแล้วแต่ภรรยาเสียชีวิตหรือหย่าร้างกับภรรยาแล้ว
สแกมเมอร์อาจจะแอบอ้างเป็นบุคคลในรูป ใช้ข้อมูลของบุคคลจริงในรูป หรืออาจจะสร้างตัวตนใหม่โดยใช้รูปคนอื่นแต่งเรื่องราวให้ดูน่าเชื่อถือ เพื่อให้เหยื่อเชื่อใจจากภาพลักษณ์ที่เห็น สแกมเมอร์จะแฝงตัวอยู่ในสังคมออนไลน์ทั่วไปในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันหาคู่ต่างๆ และอาจติดต่อพูดคุยกับเหยื่อได้ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทาง Email, Facebook, Line, Instagram
ขณะเดียวกันสแกมเมอร์ยังใช้ Social Engineering ในการโจมตีทางจิตวิทยา รวมถึงการใช้วาทะศิลป์ในการล่อลวงเหยื่อให้หลงกลยอมเปิดเผยข้อมูลสำคัญ และเมื่อวางเป้าหมายไว้เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการลงมือต้มตุ๋นเหยื่อ โดยขอยกตัวอย่างรูปแบบและวิธีที่สแกมเมอร์มักใช้ดำเนินการอยู่บ่อยครั้ง ดังนี้
โจมตีด้วยคำว่ารัก
หลากคำหวานหว่านโปรยลงบนใจของคุณ ยิ่งเป็นคนขี้เหงาที่กำลังแสวงหารักแท้แล้วล่ะก็ ยิ่งเข้าทางสแกมเมอร์
- “รักคุณตั้งแต่แรกเห็นรูปโปรไฟล์ เมื่อนั้นก็รู้ได้เลยว่านี่คือคู่ชีวิตที่จะจูงมือและอยู่ด้วยกันไปตลอดกาล”
- “ชีวิตนี้ล้มเหลวกับความรักมากมาย ไม่เคยเจอรักแท้เช่นคุณ เราแต่งงานกันนะ”
- “มีเงินทองมากมายแต่ซื้อความรักไม่ได้ หากได้คุณเป็นคู่ครองก็จะทำให้พบกับความสุขที่สมบูณณ์แบบ”
บางเคสก็จะใช้กลลวงประมาณว่า กำลังมองหารักแท้หรือเพื่อนใจที่จะมาลงหลักปักฐานใช้ชีวิตร่วมกันในบั้นปลาย จะหอบเงินเกษียณหรือจากการทำธุรกิจมาทั้งชีวิต แล้วเดินทางมาหามาแต่งงานด้วย แต่ยังติดขัดที่ขั้นตอนการเดินทาง การโอนถ่ายทรัพย์สมบัติ ฯลฯ โดยเฉพาะคนร้ายที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งยังออกนอกประเทศไม่ได้ด้วยเงื่อนไขบางประการ ต้องให้เหยื่อโอนเงินไปช่วย ไม่ว่าจะเป็นเงินค้ำประกัน เงินค่าดำเนินการบางอย่าง ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าธรรมเนียม และอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อได้ฟังเช่นนี้ทำให้เหยื่อหลงเชื่อเพราะรัก หรือต้องการทรัพย์สินจากเรื่องหลอกลวงที่สแกมเมอร์สร้างขึ้น
หลอกให้ร่วมลงทุน
หลอกว่าเป็นนักธุรกิจหรือมหาเศรษฐีที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ต้องการหาคนมาร่วมลงทุนด้วย หลอกให้เหยื่อโอนเงินไปช่วยหมุนในธุรกิจก่อน เหยื่อหลงเชื่อเพราะคนร้ายหลอกว่าจะได้เงินก้อนใหญ่ ผลตอบแทนสูงหลายสิบเท่า หากรีบลงทุนเสียแต่ตอนนี้
ส่งของมีค่ามาให้
หลอกว่าส่งสิ่งของมีราคาสูงมากมาให้ แต่ของติดอยู่ที่ด่านตรวจ จึงขอให้เหยื่อช่วยโอนเงินไปจ่ายก่อนเพื่อจะได้นำของออกมาให้เหยื่อได้ เหยื่อหลงเชื่อเพราะหวังสิ่งของราคาสูงนั่นเอง
ต้องการความช่วยเหลือ
หลอกว่ามีพ่อแม่พี่น้องหรือแม้แต่ตัวเองกำลังป่วย ขอให้เหยื่อส่งเงินไปช่วยรักษา เมื่อหายแล้วจะได้เดินทางมาหา หลอกว่ากำลังเดือดร้อนต้องใช้เงินจำนวนมากๆ เช่น ชำระหนี้ หรือไถ่ถอนที่ดินหรือบ้าน เหยื่อหลงเชื่อเพราะรัก สงสาร และหวังที่จะได้ใช้ชีวิตร่วมกันจึงยอมช่วยเหลือ
ทุกรูปแบบที่กล่าวมานั้น มาพร้อมคำสัญญาว่าจะคืนเงินให้ตามจำนวนหรือมากกว่าหลายเท่า รวมทั้งสัญญาว่าจะแต่งงานมีอนาคตร่วมกัน เมื่อเหยื่อเริ่มรู้ตัวหรือสงสัยว่าอาจจะถูกหลอกหรือเหยื่อหมดตัวแล้ว สแกมเมอร์จะหนีไปตลอดกาลไม่ติดต่อกับเหยื่อและไม่ให้เหยื่อติดต่อได้ พร้อมกับปิดบัญชีออนไลน์ต่างๆ ซึ่งก็สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์นี้อยู่แล้ว
สแกมเมอร์มักใช้ประวัติและรูปภาพปลอม ทำให้ติดตามตัวได้ยากหรือถ้าติดต่อได้ก็อาจเป็นคนที่ถูกนำรูปภาพมาใช้ ไม่ใช่คนร้ายตัวจริง
ทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ Romance Scam
- ระมัดระวังสิ่งที่คุณโพสต์ในโลกออนไลน์ เพราะสแกมเมอร์สามารถใช้รายละเอียดที่แชร์บนโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์หาคู่เพื่อทำความเข้าใจและกำหนดเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
- ค้นหารูปภาพและโปรไฟล์ของบุคคลดังกล่าว ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า โดยใช้การค้นหาออนไลน์เพื่อดูว่ามีการใช้รูปภาพ ชื่อ หรือรายละเอียดในที่อื่นหรือไม่
- พัฒนาความสัมพันธ์อย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป และพยายามถามคำถามให้มากๆ เข้าไว้ เพื่อให้รู้จักตัวตนกันมากขึ้น
- โปรดจงระวังให้ดี หากบุคคลนั้นดูสมบูรณ์แบบเกินไปหรือขอให้คุณออกจากบริการหาคู่หรือเว็บไซต์โซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็วเพื่อสื่อสารโดยตรง
- ระวังหากบุคคลนั้นพยายามแยกคุณออกจากเพื่อนและครอบครัว หรือขอรูปภาพหรือข้อมูลทางการเงินที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจใช้เพื่อขู่กรรโชกคุณในภายหลัง
- ระวังหากบุคคลนั้นสัญญาว่าจะนัดพบด้วยตัวเองแต่ก็มักจะมีข้ออ้างว่าทำไม่ได้ หากคุณไม่ได้พบเขาหลังจากผ่านไปสองสามเดือน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม คุณก็มีเหตุผลที่ดีที่จะสงสัยว่าคนที่คุยด้วยนั้นเป็นพวกสแกมเมอร์
- จงจำไว้เลยว่าอย่าโอนเงินให้ใครง่ายๆ โดยเฉพาะคนที่รู้จักในโลกออนไลน์
อย่างไรก็ตามหากคุณตกเป็นเหยื่อของ Romance Scam แล้ว ให้เก็บหลักฐานการโอนเงิน และเก็บภาพข้อความการพูดคุยกับคนร้ายผ่านช่องทางต่างๆ เก็บชื่อบัญชี ภาพโปรไฟล์ และข้อมูลของคนร้ายไว้ให้มากที่สุด นำไปแจ้งความกับสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดี โดยมีคำแนะนำจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ดังนี้
ให้ผู้เสียหายเตรียมเอกสารส่วนตัว และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ไปด้วย
- กรณีที่เสียหายต่อชื่อเสียงให้เตรียมหลักฐานที่พบว่ามีการกระทำความผิด เช่น หน้าจอ หน้าเว็บไซต์ หน้าโปรแกรม Line และ Facebook หรือหน้าเพจที่พบการกระทำความผิด พริ้นต์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์แล้วนำไปด้วย
- กรณีที่เสียหายต่อทรัพย์ให้เตรียมหลักฐานที่พบการกระทำความผิด การหลอกลวง พรินต์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ หลักฐานการโอนเงินต่าง ๆ นำไปด้วย
- ให้ไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ สถานีตำรวจนครบาล หรือสถานีตำรวจภูธร หรือท่านสามารถเดินทางไปร้องทุกข์ที่่ บก.ปอท. ได้เช่นกัน
ท้ายที่สุดนี้หากคุณสงสัยว่าความสัมพันธ์ออนไลน์ที่พึ่งเริ่มต้นขึ้น และกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้เป็นการ “หลอกลวง” วิธีง่ายๆ อันดับแรกเลยก็คือ “ให้หยุดการติดต่อทั้งหมดทันที” ก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านี้
ข้อมูลจาก
https://www.fbi.gov/video-repository/fbi-salt-lake-city-romance-scam-victim-tells-her-story-02112022.mp4/view
https://plus.thairath.co.th/topic/spark/101502
https://www.etda.or.th/th/Knowledge-Sharing/Romance-Scam-in-IFBL-aspx.aspx