แชร์

AI ในบทบาทของนักกฏหมาย

อัพเดทล่าสุด: 5 ม.ค. 2024
10651 ผู้เข้าชม
AI ในบทบาทของนักกฏหมาย

AI ในบทบาทของนักกฏหมาย - ความท้าทายในกระบวนการยุติธรรม

หากจะบอกว่า AI นั้น เป็นเทคโนโลยีครอบจักวาลก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะ AI สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกๆ อุตสาหกรรม พลิกโฉมความก้าวหน้าทางนวัตกรรมในทุกวงการ และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเชื่อว่าคงจะไม่มีอะไรที่ AI ทำไม่ได้ ส่วนจะดีกว่ามนุษย์หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์สอนให้ AI เรียนรู้อย่างไร? หรือต้องการใช้ประโยชน์จาก AI ด้านไหน? แม้กระทั่งการสร้าง AI ให้เป็นนักกฏหมาย ซึ่งทุกวันนี้มีการทดลองใช้อย่างเป็นรูปธรรม

ความหมายของนักกฏหมายนั้น คือผู้ที่ใช้ความรู้ทางกฏหมายในการประกอบวิชาชีพการงานของตน คำว่านักกฏหมายจึงไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะทนายความเท่านั้น แต่หมายความถึงผู้พิพากษา อัยการ ที่ปรึกษากฏหมาย นิติกร อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ตลอดจนนักกฏหมายในฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้ออกกฏหมาย ในต่างประเทศอาจรวมถึงพนักงานสอบสวนด้วย

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เทคโยโลยี AI ได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว บางอย่างก้าวกระโดดและล้ำสมัยมากขึ้น มีการใช้เครื่องจักรเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ หลายๆ อุตสาหกรรมได้ลดจำนวนพนักงานลงแล้วเปลี่ยนมาใช้ Robot ที่ทำงานได้แม่นยำกว่า จนได้มีการตั้งคำถามอยู่เสมอเกี่ยวกับอาชีพต่างๆ ที่มนุษย์ทำจะหายไป และจะถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI รวมถึงวิชาชีพ “นักกฎหมาย” ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาที่จะได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ของบริษัทที่ปรึกษา Deloitte ว่า AI จะเข้ามาแทนที่งานในสาขากฎหมายกว่า 100,000 งานภายใน 20 ปี และ Mckinsey Global Institute ก็คาดการณ์ว่า กว่าร้อยละ 23 ของงานด้านกฎหมายจะถูกแทนที่ด้วย AI


ตัวย่างของ AI ในด้านกฏหมายที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา คือแอปพลิเคชัน “DoNotPay” ซึ่งเป็น “หุ่นยนต์นักกฎหมายตัวแรกของโลก” เป็นหุ่นยนต์ Chatbot ที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย หรือกรอกข้อมูลและส่งเอกสารทางกฎหมายให้กับผู้ใช้งาน เช่น เอกสารที่ต้องใช้ในการดำเนินคดีทางศาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

วันนี้เราจะมาพูดถึงบทบาทของ AI ในวิชาชีพกฏหมาย ว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ว่านี้ ทำอะไรได้บ้าง?

ในงานด้านกฏหมาย AI ทำอะไรได้บ้าง?
การตรวจสอบเอกสาร : โดยเฉพาะเอกสารในการดำเนินคดีที่มีจำนวนมาก AI สามารถดำเนินการคัดเลือกและตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำกว่ามนุษย์เป็นอย่างมาก รวมทั้งการตรวจร่างสัญญาต่างๆ ที่ไม่ซับซ้อนในเบื้องต้นว่าถูกต้อง ครบถ้วน หรือมีข้อผิดพลาด หรือมีส่วนใดที่ยังขาดหายไปหรือไม่ ตัวอย่างเช่น บริษัท JP Morgan ซึ่งได้มีการนำระบบปฏิบัติการ “COIN” มาใช้ในการตรวจสัญญาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากให้แล้วเสร็จได้ภายในไม่กี่วินาที จากเดิมที่ต้องใช้การตรวจสอบโดยนักกฎหมายที่ใช้เวลากว่า 360,000 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการตรวจสอบและวิเคราะห์สถานะ (Due Diligence) เช่นในกรณีการตรวจสอบและวิเคราะห์ก่อนการควบรวมกิจการ

การค้นหาข้อมูลทางกฎหมาย : โดยการป้อนข้อมูลที่ต้องการค้นหา AI ก็สามารถหาคดีที่ศาลได้เคยตัดสินที่มีลักษณะที่เหมือนหรือคล้ายกันกับคดีที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์แก่คดีแตกต่างจากการค้นหาคดีที่ทำในรูปแบบเดิม ซึ่งบริษัท IBM ก็ได้มีการพัฒนา AI ดังกล่าวขึ้นมาชื่อ “Ross Intelligence” เพื่อช่วยนักกฎหมายในการค้นหาคดี

การคาดการณ์ผลของคดี : ด้วยข้อมูลและความรู้ที่จำกัด ทำให้นักกฎหมายไม่ว่าจะมีประสบการณ์มากเพียงใด ก็มีโอกาสคาดการณ์ผิดพลาดได้ แต่ AI สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ จึงสามารถที่จะคาดการณ์ผลของคดี หรือมีการตัดสินใจต่างๆ ได้อย่างแม่นยำมากกว่ามนุษย์ เช่น ความเป็นไปได้ในการชนะคดี จำนวนค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หรือแนวทางการตัดสินของผู้พิพากษา

ครั้งแรกกับการขึ้นศาลของทนายความ AI
อย่างกับที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าโลกของเราได้ให้กำเนิด “หุ่นยนต์นักกฎหมายตัวแรกของโลก” ซึ่งเป็นแชทบอตที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทสตาร์ทอัพทื่ชื่อว่า DoNotPay เพื่อช่วยผู้ใช้ในการแก้ปัญหาระบบราชการและกฎหมาย ก่อตั้งเมื่อปี 2558 โดย Joshua Browder และเริ่มให้บริการแอปพลิเคชันทนายความแชทบอตในปี 2563

สำนักข่าว Gizmodo รายงานว่า ทางทีมผู้สร้างอธิบายตัวเองว่าเป็น “ทนายหุ่นยนต์คนแรกของโลก” และได้นำ AI ดังกล่าวมาทดสอบในห้องพิจารณาคดีจริงครั้งแรก ณ ศาลสหรัฐฯ เป็นคดีที่จำเลยโดนใบสั่งจราจร โดยจะเริ่มสู้คดีในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้

การทำงานของทนายความหุ่นยนต์ เริ่มต้นด้วยการถามถึงรูปคดี ข้อมูลส่วนตัว และร่างคำฟ้องให้จำเลย ถ้าต้องขึ้นศาลอย่างคดีดังกล่าว จะแนะนำแก่จำเลยว่าควรพูดหรือไม่พูดอะไรในศาล ผ่านทางหูฟังที่เชื่อมต่อกับระบบ AI ซึ่งทางบริษัทไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีได้ เนื่องจากต้องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของจำเลย และป้องกันการละเมิดกฎระเบียบของห้องพิจารณาคดี

Joshua Browder ให้สัมภาษณ์ว่าวัตถุประสงค์ของการสร้าง DoNotPay ขึ้น เพราะต้องการให้ผู้คนเข้าถึงสิทธิ์ในการจ้างทนายที่มีค่าบริการถูกลง เพิ่มความเป็นธรรมกับคนตัวเล็กตัวน้อยที่โดนเอารัดเอาเปรียบ และช่วยลดค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย ค่าปรับที่อาจเกิดขึ้นเมื่อโดนใบสั่ง ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้ใช้งานอย่าง Matthew Lee ลองใช้บริการดังกล่าว ซึ่ง Matthew เป็นครูพาร์ทไทม์ที่ได้รับผลกระทบเพราะรัฐแคลิฟอร์เนียสั่งปิดโรงเรียน ทำให้เขาไม่ได้รับค่าจ้าง ส่งผลให้ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ซึ่งการกด Subscribe ไว้ทำให้เขาสามารถร้องเรียนความเป็นธรรมให้กับตนเองได้

Matthew พูดคุยกับแชทบอตทนายความหุ่นยนต์ผ่านสมาร์ตโฟน ประมาณ 10-15 นาที จากนั้น AI ก็จัดการกรอกข้อมูลของเขาให้เสร็จสรรพ ภายในวันต่อมาเขาได้รับเงินช่วยเหลือมาจ่ายค่ารถ ค่าเช่า การได้รับความช่วยเหลือครั้งนี้สร้างความประทับใจให้กับ Matthew ไปอีกนาน

บริการ DoNotPay สามารถฟ้องร้องใครก็ได้ ตามคอนเซ็ปต์ “Sue Anyone” ซึ่งจำกัดวงเงินการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่เกิน 25,000 ดอลลาร์ (ราว 838,050 บาท)  

นอกจากนี้ เคยมีนักกฎหมายจำนวน 20 คน ลงแข่งขันกับ DoNotPay โจทย์คือให้วิเคราะห์ถึงความเสี่ยงในข้อตกลงสำหรับการไม่เปิดเผยข้อมูล โดย AI ทำคะแนนได้สูงด้วยความแม่นยำมากถึง 94 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการให้คำตอบผ่านทาง
แอปพลิเคชัน

จีนกับการพัฒนาหุ่นยนต์อัยการ
ไม่เพียงแต่ทนายความเท่านั้นที่ AI เข้าไปทำหน้าที่ หากแต่ยังรวมถึง “อัยการ” ด้วย ซึ่งเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมานั้น มีรายงานว่า จีนเริ่มพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์อัยการอัจฉริยะซึ่งใช้ AI ที่อ้างว่าสามารถแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีอาชญากรรมได้อย่างแม่นยำถึงร้อยละ 97

อัยการ AI ได้รับการพัฒนาโดยทีมงานจากห้องปฏิบัติการการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และความรู้ของ Chinese Academy of Sciences ที่นำโดยศาสตราจารย์ Shi Yong ซึ่งอ้างว่า AI ดังกล่าวสามารถระบุประเภทของอาชญากรรมและยื่นฟ้องหลังจากได้รับฟังคำอธิบายเหตุการณ์ด้วยวาจา

อัยการ AI ได้รับการพัฒนาจากทีมฝึกอบรมระหว่างปี 2558 – 2563 โดยใช้ข้อมูลจากคดีอาญาต่างๆ มากกว่า 17,000 คดี เป็นต้นแบบในการฝึกฝน AI ให้มีทักษะความรู้ด้านอัยการ ทำให้ AI สามารถตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องสงสัยต่อรูปคดีได้ 1,000 รูปแบบ โดยมีต้นแบบจากเอกสารประกอบคดีที่มนุษย์เป็นผู้เขียน และสามารถใช้เพื่อตั้งข้อหาความผิดทางอาญาที่พบบ่อยในนครเซี่ยงไฮ้ อาทิ การฉ้อโกง การฉ้อโกงบัตรเครดิต การโจรกรรม การทำร้ายโดยเจตนา การขับขี่ที่อันตราย การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การเล่นการพนันที่ผิดกฎหมาย และการยั่วยุให้เกิดปัญหา

อัยการ AI มีข้อดีซึ่งคาดว่าจะช่วยกระบวนการยุติธรรมได้โดยการลดภาระงานของพนักงานอัยการ ช่วยให้อัยการมีเวลามากขึ้นในการจัดการกับคดีที่ยากและซับซ้อน

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้กังวลกับการให้ปัญญาประดิษฐ์ตั้งข้อหาผู้กระทำความผิดได้ แม้ว่าระบบดังกล่าวมีความแม่นยำถึงร้อยละ 97 ซึ่งอาจเป็นตัวเลขที่สูงจากมุมมองทางเทคโนโลยี แต่ก็มีโอกาสผิดพลาดอยู่เสมอ ซึ่งมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหาก AI ตัดสินผิดพลาด ระหว่างอัยการ เครื่องจักร หรือผู้ออกแบบอัลกอริทึม”

ลองคิดภาพตามดูว่า เมื่อเทคโนโลยี AI พัฒนาไปถึงขีดสุด การทำหน้าที่ในวิชาชีพกฏหมายของ AI จะมีบทบาทต่อกระบวนการยุติธรรมที่มีความท้าทายอย่างมาก สิ่งสำคัญคือต้องนำ AI ในฐานะที่เป็น “เครื่องมือ” มาปรับใช้และทำงานร่วมกันกับมนุษย์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และสามารถให้คำแนะนำลูกความได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

อย่างกับที่ Joshua Browder เคยให้เหตุผลของการสร้างหุ่นยนต์ทนายความขึ้น เพราะอยากช่วยผู้คนลดค่าใช้จ่ายทางกฎหมายและค่าว่าจ้างทนายความ

“มีนักกฎหมายดีๆ มากมายที่ว่าความในคดีทางสิทธิมนุษยชน แต่ทนายความจำนวนมากก็คิดค่าบริการที่แพงจนเกินไป แต่ไม่ใส่ใจกับเอกสารทางกฎหมายที่ทำ ผมคิดว่าทนายความเหล่านี้ควรถูกแทนที่ และจะถูกแทนที่อยากแน่นอน” Joshua Browder กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว New York Post


ข้อมูลจาก
https://www.nia.go.th/cyber/cyberpage/668/  
https://api.dtn.go.th/files/v3/5e96a34aef41402e097579b7/download 
https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1047320 
https://thematter.co/brief/193954/193954 

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ